เมื่อตอนเป็นเด็กเล็ก ข้าพเจ้าเคยสงสัยว่าเขาเริ่มต้นนับวันเดือนปีของสิ่งนั้นสิ่งนี้อย่างไร ใครเป็นคนคิดริเริ่ม หรือเขาเอาอะไรเป็นจุดเริ่มต้น ฯลฯ คิดสารพัดสารพัน ตามประสาเด็กบ้านนอกลูกชาวนาที่ไม่มีที่พึ่งพาพอสืบถามใคร หรือสถานที่ค้นหาคำตอบใดได้
เอาแค่อายุคน และ/หรือเหตุการณ์ต่างๆ เดิมทีไทยเราเริ่มต้นปีเมื่อ 1 เมษายน ครั้นเขามาเปลี่ยนต้นปีหรือวันปีใหม่ 1 มกราคม เอาเมื่อปี 2483 ฉะนั้นคนที่เกิดก่อนปี 2483 อย่างพวกเราจึงอายุขาดไป 3 เดือน คือ มกราคม กุมภาพันธ์ และ มีนาคม 2482 เดิม
คนที่เกิดวันที่ 1 เดือนมกราคม พุทธศักราช 2477 อย่างผู้เขียน (ซึ่งแต่เดิมก็ไม่ได้ถือว่าเป็นวันปีใหม่) มาบัดนี้ พอวันที่ 1 มกราคม 2557 สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เขาก็หาว่าข้าพเจ้าอายุครบ 80 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่ข้าพเจ้าแย้ง (ในใจคนเดียว) ว่า ยังอีกตั้ง 3 เดือน คือ พ้นวันที่ 30 เมษายน 2558 นั่นจึงจะครบ แต่ถ้าไปแย้งเขาเข้า ป่านนี้ก็คงยังได้รับรางวัล นราธิป เป็นแน่ เพราะเขาจัดมอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558
เพื่อนที่อาวุโสกว่าหรือใกล้เคียงกันที่พอจะถามไถ่ให้ค้นหาความรู้มาเล่าสู่กัน ฟัง ต่างก็ทยอยจากไปสู่สวรรค์ชั้นกวีเกือบหมดแล้ว จึงต้องปรึกษา กูรู ที่ชื่อ กูเกิล ซึ่งท่านก็บอกว่า
ก่อนที่จะใช้พุทธศักราชอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้ ไทยเราเคยใช้ มหาศักราช และ จุลศักราช มาก่อน เช่นเดียวกับอาณาจักรเพื่อนบ้านใกล้เคียง มหาศักราช แพร่เข้ามาก่อนศักราชอื่นๆ ดังปรากฏในศิลาจารึกของกรุงสุโขทัย และศิลาจารึกของอาณาจักรใกล้เคียงในย่านนี้เป็นส่วนใหญ่ มหาศักราชตรงกับพุทธศักราช 623 และใช้วันที่ 29 มีนาคม เป็นวันปีใหม่ เข้าใจว่าไทยเลิก มหาศักราช ในปี 2112
จุลศักราช (จศ.) ไทยเริ่มใช้เมื่อพุทธศักราช 1181 และใช้วันที่ 16 เมษายน เป็นวันปีใหม่ ไทยใช้ จศ. นี้มาตั้งแต่ปลายสมัยสุโขทัย ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาจนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงทรงให้ออกพระราชบัญญัติ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พศ. 2430 ให้ใช้ศักราชของเราเอง เรียกว่า รัตนโกสินทรศก โดยเริ่มนับปี 2325 (ปีเริ่มตั้งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี) เป็น รัตนโกสินทรศก-(รศ.) 1 แต่ในทางพุทธศาสนา ยังคงใช้ พุทธศักราช (พศ.) อยู่
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชปรารภว่า
ศักราชรัตนโกสินทร์ที่ใช้อยู่ในราชการเดี๋ยวนี้ ยังมีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือ เป็นศักราชที่สั้นนัก จะกล่าวถึงเหตุการณ์ใดๆ ในอดีตภาคก็ขัดข้อง ด้วยว่าพอกล่าวถึงเรื่องราวที่ก่อนสร้างกรุงขึ้นไปแล้ว ก็ต้องหันไปใช้จุลศักราชบ้าง มหาศักราชบ้าง และข้างในวัดยังใช้พุทธศักราช ฝ่ายคนไทยสมัยที่อยากกล่าวถึงเหตุการณ์อันมีมาก่อนสร้างกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ก็มักหันไปใช้คริสต์ศักราช ซี่งดูเป็นการเสียรัศมีอยู่ จึงเห็นว่าควรใช้พุทธศักราชจะเหมาะดีด้วยประการทั้งปวง
เป็นศักราชที่คนไทยซึมซาบดีอยู่แล้ว ทั้งในราชการก็ใช้พุทธศักราชอยู่แล้ว และอีกประการหนึ่ง ในเวลานี้ก็มีแต่เมืองเดียวที่มีพระเจ้าแผ่นดินนับถือพุทธศาสนา… จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เริ่มใช้พุทธศักราช เป็นศักราชในทางราชการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พศ. 2456
ดังนั้น นับถึงวันที่ 1 เมษายน พศ. 2556 จึงถือว่าไทยใช้พุทธศักราชในทางราชการมาครบ 100 ปี ในการนี้ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกับ ธนาคารออมสิน ได้จัดพิมพ์หนังสือ ธรรมราชธีรราชา เป็นที่ระลึก เนื้อหาในหนังสือเป็นพระบรมราโชวาท และพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา (เช่น เทศนาเสือป่า บทพากย์ “ธรรมาธรรมะสงคราม” พร้อมภาพฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์) ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนทราบว่า หนังสือขนาด 8 หน้ายก ปกแข็งเดินทอง หนา 207 หน้าเล่มนี้ พิมพ์เพียง 2,000 เล่ม ยังมีเหลืออยู่บ้างจำนวนไม่มาก ท่านที่สนใจอาจติดต่อที่สำนักงานมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ หอวชิรานุสรณ์ ถนนสามเสน กรุงเทพ ฯ 10300 โทรศัพท์ 0-2281-4659 โทรสาร 0-2282-2886
ในโอกาสครบ 100 ปี พุทธศักราชนี้ หม่อมราชวงศ์อรฉัตร ซองทอง ได้ประพันธ์บท
ราชสดุดีไว้ว่า : น้อม ฯ บังคมพระมหาธีรราชเจ้า/มงกุฎเกล้าอธิบดินทร์ปิ่นสยาม/ทรงบัญญัติพุทธศักราชประกาศนาม/ธำรงตามพุทธศาสน์แห่งชาติไทย/แต่ก่อนกาลขานรัตนโกสินทรศก/ทรงหยิบยกนับวิธีปีเดือนใหม่/เริ่มแต่ปีปรินิพพานยาวนานไกล/โปรดเกล้า ฯ ใช้แทน รศ. สืบต่อมา/ในรัชกาลที่หกศกสำคัญ/เริ่มสองพันสี่ร้อยห้าสิบห้า/พระราชดำริพินิจพิจารณา/เทียบทั้งคริสต์ศาสนามาตรงกัน/บัดนี้ครบร้อยปีที่ประกาศ/พุทธศักราชยืนยงธำรงมั่น/พระมหากรุณาคุณานันต์/คือมิ่งขวัญประชาชาติราษฎร/ล้วนสำนึกรำลึกพระคุณอุ่นดวงจิต/เชิญบูชิตวชิราวุธานุสรณ์/พระสถิตสรวงสวรรค์นิรันดร์บวร/โปรดคุ้มเกล้าเหล่านิกรการุณย์ไทย/ขจัดทุกข์บำรุงสุขทุกสถาน/ถนอมบ้านทำนุเมืองเรืองสมัย/ขอพระราชจักรีวงศ์ธำรงชัย/ปราศปวงภัยสถิตอยู่คู่ฟ้าดิน @
Model | Start Price (THB) |